กลุ่มอีลิค เร่งมือสร้างเครื่องดูดฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ใช้หลักสร้างสมดุลดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เตรียมส่งมอบให้ชาวเชียงใหม่ แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมการก่อสร้างเครื่องดูดฝุ่นละอองPM 2.5 โดยทีมวิศวกรและจิตอาสา ในชื่อกลุ่มจิตอาสาวิจัยและพัฒนาพลังงานเพื่อการจัดการภัยพิบัติ หรือ กลุ่มจิตอาสาอีริค เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ต่างระดมกำลังในการสร้างเครื่องดูดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่บ้านหนองแก ต.นาเพียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังจากสร้างแล้วเสร็จจะส่งต่อแก้ปัญหาวิกฤติปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่

นายศรัณย์ อินทรกำแหง กลุ่มจิตอาสาอีริค กล่าวว่า ทางกลุ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย และ ภัยพิบัติน้ำท่วมที่ แขวงอัตปือ ประเทศลาว เมื่อพบว่าทางภาคเหนือมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงทำให้กลุ่มมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เครื่องดูดฝุ่นต้นแบบได้คิดค้นมาตั้งแต่ต้นปี 62 ใช้เวลาในการหาวัสดุ ประดิษฐ์ ทดลอง มาอย่างต่อเนื่อง ใช้ชื่อนวัตกรรมนี้ว่า เครื่องดูดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 เครื่องดูดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 เครื่องนี้ ถือเป็นเครื่องต้นแบบโดยใช้หลักทางวิศวกรรมหลากหลายสาขา ทั้งวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเครื่องกล มีขนาดความสูง 4.20 เมตร ซึ่งเป็นขนาดความสูงที่พบฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีส่วนประกอบสำคัญ 3ส่วนคือ ส่วนรับฝุ่น ส่วนจับฝุ่นด้วยละอองน้ำ และส่วนแยกฝุ่นและน้ำออกจากกัน โดยมีการทำงานเริ่มจาก ช่องดูดฝุ่นที่ทำจากสแตนเลส ติดตั้งเซนเซอร์วัดปริมาณฝุ่นละออง แล้วใบพัดจะดูดฝุ่นเข้ามาที่อัตราความเร็วสูง แล้วหัวฉีดจะฉีดน้ำไปในทิศทางเดียวกันกับการหมุนของใบพัด แล้วฝุ่นละอองจะตกลงไปชั้นที่2 ที่มีหัวพ่นละอองน้ำ ชั้นนี้จะทำให้ไอน้ำรวมตัวกับฝุ่น พีเอ็ม 25 โดยใช้หลักการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อดักจับฝุ่นละอองหรือสารปนเปื้อนที่มากับอากาศ

จากนั้นฝุ่นจะดูดเข้าถังเก็บฝุ่น ที่มีระบบกรองน้ำแยกฝุ่นกับน้ำ น้ำจะถูกฆ่าเชื้อด้วยระบบโอโซน แล้วถูกดูดด้วยปั๊มน้ำแรงดันสูง เพื่อให้น้ำไหลหมุนเวียนเข้าไปใช้ในระบบอีกครั้ง ส่วนอากาศที่ถูกบำบัดภายในระบบแล้ว จะถูกวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอีกครั้ง ก่อนจะถูกเป่าออกมาข้างนอก เป็นอากาศหมุนเวียน ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าช่องดูดฝุ่น เป็นการเติมอากาศที่สะอาด ด้วยความดันอากาศที่เป็นบวกไปยังแหล่งชุมชน ใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาเซลล์ในการทำงาน หรือไฟฟ้า เพื่อไม่ให้ก่อมลพิษเพิ่ม โดยสถานที่ติดตั้ง ที่เหมาะสม คือพื้นที่โล่ง เพื่อให้อุปกรณ์ทุกอย่างทำงานได้อย่างเต็มที่ เป็นแนวคิดที่รวมธาตุทั้ง 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ มาสร้างสมดุล เมื่อฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ซึ่งเราถือว่าเป็นดิน ทำปัญหา เราจึงนำน้ำที่ฉีดเป็นละอองขนาดเล็ก 2.5 มาดักเช่นกัน ใช้ลมจากในพัดมาเป็นเรื่องเป่าแยกดินน้ำออกจากกัน โดยมีไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์มาทำงานร่วม เป็นการนำหลักจากธรรมชาติมาแก้ไขปัญหา

สำหรับนวัตกรรมกรีน เครื่องดูดฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ทางกลุ่มจิตอาสา ตั้งใจติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งต่อไปติดตั้งและเดินเครื่องที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ทางจังหวัดเชียงรายยังได้ประสานงานขอความร่วมมือประดิษฐ์เครื่องดูดฝุ่นเพื่อน้ำไปใช้แก้ปัญหาด้วย ทางกลุ่มตั้งใจขยายแนวคิดเครื่องดูดฝุ่นไปยังสถาบันการศึกษา ขณะนี้ได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อนำไปต่อยอด นำไปสร้างความรู้ และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีข้อแม้ว่า ต้องนำแนวคิดนี้ไปช่วยเหลือในส่วนรวมเท่านั้น

ทิ้งคำตอบไว้

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.